การปลูกตะไคร้

การจะทำการเพาะปลูกตะไคร้ให้ได้ผลผลิตออกมาเป็นที่น่าพอใจนั้นมีหลายวิธี ซึ่งแต่ละสวนจะมีความเป็นเอกลักษณ์ของสวนเอง อาจมีรูปแบบและวิธีการที่คล้ายคลึงกันบ้าง แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดที่จะเหมือนกันทุกตารางนิ้ว ในโอกาสต่อจากนี้ไปทางสวนของเราขอนำท่านได้สัมผัสกับวิธีการปลูกตะไคร้ ตามหลักวิชาการเกษตรผสานกับภูมิปัญญท้องถิ่นดังต่อไปนี้

  1. ไถดะพลิกหน้าดินให้ลึก เพื่อดินจะได้ร่วน และโปร่ง น้ำจะได้ไม่ขัง และเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี เสร็จแล้วไถแปร และไถพรวนชักร่องเหมือนกับการปลูกอ้อย หลังจากนั้นตากแดดหน้าดินเป็นเวลา 5 – 7 วัน เพื่อหมักวัชพืชให้ตาย และเป็นการฆ่าเชื้อราในดินด้วย
  2. ระหว่างที่รอตากหน้าดินนั้นก็ทำการเตรียมกล้าพันธุ์ไปพร้อมๆ กันเพื่อไม่ให้เสียเวลา โดยตัดรากและส่วนใบออก ให้เหลือความยาวลำต้นประมาณ 20 – 25 เซนติเมตร จากนั้นให้ทำการแช่ลำต้นกับน้ำเปล่าโดยนำส่วนที่เป็นรากแช่ทิ้งไว้ 5 วันหลังจากนั้นรากใหม่จะเริ่มงอกออก และมีสีเหลืองซึ่งพร้อมสำหรับการปลูก
  3. มาถึงขั้นตอนนี้แล้วสิ่งหนึ่งที่ต้องทราบคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าควรจะใช้กล้าพันธุ์ด้วยปริมาณเท่าใดจึงจะเพียงพอในการเพาะปลูกพื้นที่ขนาด 1 ไร่ วิธีการก็คือการคำนวณครับ จะให้ผลที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด โดยให้คิดว่าพื้นที่ 1 ไร่เท่ากับ 1,600 ตารางเมตร และสูตรในการคำนวณหาพิ้นที่ก็คือกว้างคูณยาว

    ดังนั้นจึงอาจตั้งสมุติฐานในเบื้องต้นก่อนว่าด้านกว้างน่าจะ 40 เมตร และด้านยาวก็เช่นกันน่าจะ 40 เมตร เพราะ 40 X 40 เมตรเท่ากับ 1,600 ตารางเมตรนั่นเอง ถึงแม้ในความเป็นจริงแล้วพื้นที่อาจจะไม่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสดังที่ตั้งสมมุติขึ้นมาก็ตาม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการคำนวณบ้างเป็นของธรรมดาตามหลักการทั่วๆ ไปแล้วนิยมปลูกด้วยระยะห่างหลุมต่อหลุม หรือกอต่อกอเท่ากับ 80 เซนติเมตร นั่นก็หมายความว่าจะได้จำนวน แนว หรือแถวของหลุมเท่ากับ 49 X 49 หลุม เนื่องจากระยะความกว้าง 40 เมตรหาร 0.8 เมตร (80 ซ.ม.) เท่ากับ 50

    แต่สภาพความเป็นจริงแล้วไม่มีใครปลูกตรงตำแหน่งขอบพื้นที่พอดี เมื่อได้ตัวเลข 49 มา ก็นำมาคูณกัน หรือยกกำลัง 2 ก็จะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 2,400 หลุม โดยปกติการปลูกจะใช้กล้าพันธุ์ 3 ต้นต่อ 1 หลุม ทำให้จำนวนต้นทั้งหมดที่ต้องใช้ปลูกเท่ากับ 7,200 ต้น หลายท่านคงจะสงสัยว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าในจำนวน 7,200 ต้นนี้จะมีน้ำหนักเท่าไหร่ วิธีการก็คือให้นำกล้าตะไคร้ที่จะทำการเพาะปลูกมาชั่งน้ำหนักให้ได้ 1 กิโลกรัม แล้วทำการนับจำนวนต้นว่าในจำนวน 1 กิโลกรัม จะมีกี่ต้น แล้วนำค่าที่ได้ไปหาร 7,200 ต้น

    โดยทั่วไปแล้วตะไคร้เมื่อโตเต็มที่แล้ว 25 ต้นก็จะเท่ากับ 1 กิโลกรัม หรือใครจะนำ 25 ไปหาร 7,200 ต้นก็ได้นะครับ ผลลัพธ์ก็จะเท่ากับ 288 กิโลกรัม แต่นี่ไม่ใช่บทสรุปครับ ในสภาพความเป็นจริงในการทำงาน ระยะห่างของหลุมต่อหลุมอาจจะไม่เท่ากัน ซึ่งถ้าระยะห่างน้อยกว่า 80 เซนติเมตรก็จะทำให้จำนวนหลุมเพิ่มขึ้นนั่นหมายความว่าจะต้องใช้กล้าพันธุ์เพิ่มขึ้นเช่นกัน

    หรือในบางกรณีกล้าพันธุ์โตไม่เต็มที่ คนปลูกอาจจะเกรงว่าต้นที่เล็กจะตายจึงได้เพิ่มเข้าไปอีกรวมเป็น 4-5 ต้นจึงส่งผลให้สิ่งที่คำนวณนั้นมีความคลาดเคลื่อนไปตามสภาพของตัวแปรต่างๆ ดังที่กล่าวไป ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมานั้นสวนของเราใช้กล้าพันธุ์ในการเพาะปลูก 600 – 900 กิโลกรัม บนพื้นที่ 1 ไร่
  4. ขุดหลุมลึก10 เซนติเมตรแล้วนำกล้าตะไคร้ที่ผ่านการเพาะชำจนรากใหม่งอกออกใส่ลงไปในหลุม 3 ต้น แล้วฝังกลบซึ่งภายหลังจากเพาะปลูกเป็นเวลา 2-3 เดือน ตะไคร้จะเริ่มแตกกอ
  5. ควรจะมีการรดน้ำบ้างในบางช่วงที่ขาดน้ำฝน แต่สำหรับที่สวนของเราจะมีแหล่งน้ำเป็นของตัวเองโดยผันน้ำเข้ามาจากคลองบางละมุงจึงไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด กล่าวได้ว่ามีน้ำรดตลอดทั้งปี สามารถทำการเพาะปลูกได้ทุกฤดูกาล
  6. หมั่นดูแลวัชพืชในช่วง 2 – 3 เดือนหลังจากลงปลูก แต่หลังจากตะไคร้ขึ้นกอแล้ววัชพืชจะลดลงเองโดยอัตโนมัติ
  7. เมื่อตะไคร้เริ่มเป็นกอในช่วงเดือนที่ 4 ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของลำต้น
  8. คอยดูแลใบตะใคร้อยู่เสมอไม่ปล่อยให้ปลายใบแห้งควรมีการตัดแต่งใบเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโต
  9. เมื่อครบอายุ 6 เดือนตะไคร้จะเจริญเติบโตเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยวซึ่งควรตัดความยาวลำต้นประมาณ 17 นิ้ว แล้วมัดเป็นกำๆละ 1 กิโลกรัม และหลังจากนั้นนำมารวมกัน 10 กำหรือ 10 กิโลกรัม เพียงเท่านี้ก็พร้อมจำหน่ายแล้วครับ

ขั้นตอน และกรรมวิธีที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นวิธีการที่ทางสวนของเราเลือกที่จะทำแบบดังกล่าว อาจจะมีความคล้าย หรือ
แตกต่างจากสวนอื่นบ้าง ก็แล้วแต่ทางผู้สวนใจจะนำไปคิดวิเคราะห์ต่อยอด ขอบอกว่าไม่มีอะไรตายตัวครับ สามารถปรับได้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่